รวมค่าลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาปี 2564

20 Mar 2022

 

อย่างที่รู้กันว่าภาษีบุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90/91) ต้องนำส่งภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565 ในการยื่นเอกสารแบบยื่นมือ หรือ 8 เมษายน 2565 ในการยื่นแบบออนไลน์ ดังนั้นมาดูกันว่าใครมีหน้าที่ต้องยื่นภาษี และควรทำอย่างไรให้เสียภาษีน้อยลง

 

ความจริงแล้วเป็นหน้าที่ของผู้ที่มีรายได้ในไทยทุกคนไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือต่างชาติก็ตาม โดยตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากรกำหนดให้

  1. ผู้ที่เป็น คนโสด ที่มีเงินได้จากเงินเดือนอย่างเดียวตั้งแต่ 120,000 บาท หรือ มีรายได้ประเภทอื่นตั้งแต่ปีละ 60,000 บาทขึ้นไปมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษี
  2. คนที่ ไม่โสด ที่มีเงินได้จากเงินเดือนอย่างเดียวตั้งแต่ 220,000 บาท หรือ มีรายได้อื่นตั้งแต่ปีละ 120,000 บาทขึ้นไปก็มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษี เช่นกัน

คำถามต่อมาคือ "แล้วถ้าเข้าเกณฑ์แล้วไม่นำส่งภาษีล่ะ มีความผิดหรือไม่?" คำตอบก็คือ มีความผิดทางกฎหมาย โดยต้องโทษระวางค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ซึ่งในทางปฎิบัติกรมสรรพากรก็จะลดให้ เหลือเพียง 200 บาท กรณีที่ไม่มีภาษีต้องชำระ (แต่อย่าคาดหวัง แนะนำให้นำส่งภาษีจะดีกว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ เมื่อคุณละเมิดกฎหมาย) ยิ่งถ้ามีภาษีต้องชำระละก็จะมีเบี้ยปรับอีก 1.5% ต่อเดือน!! 

 

ประเด็นวันนี้เชื่อว่าหลายคนคงหาข้อมูลมาพอสมควรแล้วเพื่อเป็นการไม่ต้องเสียเวลา จะขออนุญาตข้ามเรื่องค่าลดหย่อนต่างๆ ที่ได้กันอยู่แล้ว แต่จะขอเจาะจงไปที่ประเด็นที่เราสามารถหาค่าลดหย่อนเพิ่มได้เองเท่านั้น โดยแบ่งเป็น 7 หัวข้อ ดังนี้

  1. ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวที่ไม่มีรายได้จะได้ลดหย่อนดังนี้
    1.1 คู่สมรสผู้ไม่มีรายได้ ลดหย่อนได้ 60,000 บาท (ได้สูงสุด 1 คน)
    1.2 บิดามารดาของตน หรือของคู่สมรส คนละ 30,000 บาท (ต้องไม่มีญาติพี่น้องนำไปลดหย่อนแล้ว)
    1.3 อุปการะผู้พิการหรือทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท
    1.4 ค่าฝากครรภ์และทำคลอด ตามค่าใช้จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 60,000 บาท
    1.5 บุตร คนแรก 30,000 บาท และตั้งแต่คนที่ 2 ที่เกิดหลัง พ.ศ.2561 เป็นต้นไป คนละ 60,000 บาท (ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขคนละ 30,000 บาท)

  2. การซื้อประกัน
    2.1 เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป/เงินฝากแบบมีประกันชีวิต ตามที่จ่ายจริงและรวมกันไม่เกิน 100,000 บาท 
    2.2 เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป/เงินฝากแบบมีประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ตามที่จ่ายจริงและรวมกันไม่เกิน 10,000 บาท
    2.3 เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท
    2.4 เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท เมื่อรวมกับหมวดสีน้ำเงิน ไม่เกิน 100,000 บาท
    2.5 เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและรวมกับหมวดสีเขียว แล้วไม่เกิน 500,000 บาท

  3. การซื้อกองทุน
    3.1 กบข./กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินเดือน และเมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 500,000 บาท
    3.2 กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและเมื่อรวมกับหมวดสีเขียว แล้วไม่เกิน 500,000 บาท
    3.3 เงินประกันสังคม ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 9,000 บาท
    3.4 กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามจริงแต่ไม่เกิน 13,200 บาท หมวดสีเขียวแล้วไม่เกิน 500,000 บาท
    3.5 กองทุนรวมการออม (SSF) ตามจริงแต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท และรวมกับหมวดสีเขียวแล้วไม่เกิน 500,000 บาท

  4. ดอกเบี้ยซื้อที่อยู่อาศัย ได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท (ถ้ากู้ร่วมต้องหารเท่าจำนวนชื่อของผู้กู้ทั้งหมด เท่ากันทุกๆคนที่กู้ร่วม)

  5. เงินลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท

  6. เงินบริจาค
    6.1 เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ ได้ 2เท่าของที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
    6.2 เงินบริจาคทั่วไป ได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหัก ค่าลดหย่อน
    6.3 เงินบริจาคพรรคการเมือง ตามจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท

  7. เครดิตภาษีเงินปันผล ตัวนี้ถ้านำมายื่นต้องยื่นเงินปันผลทุกรายการ ซึ่งบางคนอาจจะทำให้ภาษีลดลง แต่ในทางตรงข้ามอาจทำให้บางคนเสียภาษีมากขึ้น ดังนั้นต้องลองยื่นทั้งสองแบบแล้วเทียบกันดูว่ายื่นหรือไม่ยื่นดีกว่ากัน

ข้อควรระวัง!! ในหมวดสีน้ำเงินจะต้องรวมกันไม่เกิน 100,000 บาท และหมวดสีเขียวรวมกันจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท

ทั้งหมดนี้เป็นรายการลดหย่อนที่ทางเรารวบรวมมาให้ หวังว่าจะมีประโยชน์แก่ใครหลายๆคน อย่างไรก็ตามถ้ามีข้อผิดพลาดประการใด ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

 

เรียบเรียงโดย: บริษัท กรุงเทพการบัญชี (1975) จำกัด

เพิ่มเพื่อน