ลดค่าโอน-จำนองอสังหาฯ เหลือ 0.01% !!

01 Apr 2022

 

มาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาฯ จากรัฐบาล ปี 2565 ปรับลดค่าโอนและจำนอง เหลือ 0.01% ให้ประโยชน์ทั้งบ้านมือหนึ่ง-มือสอง โดยเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด

ตามที่ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเปลี่ยนแปลงอัตราการจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ และจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากอัตราเดิมสิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา

อีกทั้งเดิมทีได้รับส่วนลดค่าโอนและจำนองอสังหาริมทรัพย์จะได้เฉพาะที่อยู่อาศัยที่สร้างใหม่ในโครงการบ้านจัดสรร แต่มติ ครม. ล่าสุดข้างต้น ได้เพิ่มผู้ได้รับประโยชน์จากการซื้อขายบ้านมือสองด้วย

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมเงื่อนไข ประเภท รวมถึงการคิดคำนวณการปรับลดค่าจะทะเบียนโอนและจำนองอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2565 เพื่อเป็นข้อมูลให้กับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้ทราบ

ลดค่าโอน-จำนองอสังหาฯ อัตราใหม่

การปรับลดค่าจดทะเบียนโอนและจำนองอสังหาริมทรัพย์ โดยค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์มีอัตราร้อยละ 2 และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ มีอัตราร้อยละ 1 ให้ ปรับให้เหลือเพียงร้อยละ 0.01 สำหรับอสังหาริมทรัพย์ที่มีการจดทะเบียนการโอนและจำนองในคราวเดียวกัน

อัตราดังกล่าว มีเงื่อนไขว่า จะต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท วงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยผู้ที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์จะต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย

มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศกฎกระทรวงในราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

ประเภทอสังหาฯ ที่ได้รับสิทธิลดค่าโอน-จำนอง

  • อาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว
  • อาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านแฝด
  • อาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านแถว
  • อาคารพาณิชย์
  • ที่ดินพร้อมอาคาร
  • ห้องชุดที่จดทะเบียนอาคารชุด

เทียบการคำนวณค่าโอน-จำนองอสังหาฯ

อัตราค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ ที่ปรับลดเหลือเพียง 0.01% มีสูตรการคำนวณ ดังนี้

กรณีบ้านราคา 3,000,000 บาท

การโอนกรรมสิทธิ

  • ค่าธรรมเนียม 2% : 3,000,000 / 100 = 30,000 บาท x 2 = 60,000 บาท
  • ค่าธรรมเนียม 0.01% : 3,000,000 / 100 = 30,000 บาท x 0.01 = 300 บาท

การจำนองอสังหาริมทรัพย์

  • ค่าธรรมเนียม 1% = 3,000,000 / 100 = 30,000 บาท x 1 = 30,000 บาท
  • ค่าธรรมเนียม 0.01% = 3,000,000 / 100 = 30,000 บาท x 0.01 = 300 บาท

รวมค่าใช้จ่าย : จำนวน 600 บาท หรือ จ่ายเพียงล้านละ 200 บาท

กรณีบ้านราคา 2,000,000 บาท

การโอนกรรมสิทธิ

  • ค่าธรรมเนียม 2% : 2,000,000 / 100 = 20,000 บาท x 2 = 40,000 บาท
  • ค่าธรรมเนียม 0.01% : 2,000,000 / 100 = 20,000 บาท x 0.01 = 200 บาท

การจำนองอสังหาริมทรัพย์

  • ค่าธรรมเนียม 1% = 2,000,000 / 100 = 20,000 บาท x 1 = 20,000 บาท
  • ค่าธรรมเนียม 0.01% = 2,000,000 / 100 = 20,000 บาท x 0.01 = 200 บาท

รวมค่าใช้จ่าย : จำนวน 400 บาท หรือ จ่ายเพียงล้านละ 200 บาท

กรณีบ้านราคา 1,500,000 บาท

การโอนกรรมสิทธิ

  • ค่าธรรมเนียม 2% : 1,500,000 / 100 =15,000 บาท x 2 = 30,000 บาท
  • ค่าธรรมเนียม 0.01% : 1,500,000 / 100 = 15,000 บาท x 0.01 =150 บาท

การจำนองอสังหาริมทรัพย์

  • ค่าธรรมเนียม 1% = 1,500,000 / 100 = 15,000 บาท x 1 = 15,000 บาท
  • ค่าธรรมเนียม 0.01% = 1,500,000 / 100 = 15,000 บาท x 0.01 = 150 บาท

รวมค่าใช้จ่าย : จำนวน 300 บาท หรือ จ่ายเพียงล้านละ 200 บาท

ช่องทางการคำนวณค่าธรรมเนียม

หากเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ อยากคำนวณค่าใช้จ่ายการในการโอนกรรมสิทธิ และการจำนองอสังหาริมทรัพย์ สามารถเข้าไปคำนวณได้ที่เว็บไซต์ของกรมธนารักษ์ ซึ่งยังมีการคำนวณค่าใช้จ่ายประเภทอื่น อย่างการขาย ขายฝาก และเช่า ณ สำนักงานที่ดิน อีกด้วย

 

ที่มา:https://www.prachachat.net/property/news-844732