6 วิธี ที่กรมสรรพากร รู้รายได้ของพวกเรา

27 Aug 2022

 

รู้หรือไม่ว่า เราทุกคนมีหน้าที่จะต้องยื่นแสดงรายได้ต่อกรมสรรพากรทุกปี ไม่ว่าท่านจะมีรายได้น้อย หรือมีรายได้มากก็ตาม แต่ก็จะมีข้อยกเว้นให้แก่คนรายได้น้อยก็คือ ถ้ามีรายได้ประเภทเงินเดือนไม่เกิน 120,000 บาทต่อปีจะได้รับยกเว้น ไม่ต้องยื่นภาษีได้ หรือ มีรายได้ประเภทอื่นๆที่ไม่ใช่เงินเดือนไม่เกิน 60,000 บาทต่อปี ก็ไม่จำเป็นต้องยื่นภาษีเช่นเดียวกัน

 

แต่ที่หลายคนชอบสับสนและกลัวการยื่นภาษีกัน เพราะเข้าใจผิดว่าการยื่นแสดงรายได้นั้นต้องเสียภาษี ซึ่งจริงๆแล้วการยื่นรายได้ถ้าไม่ถึงเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด ก็ไม่จำเป็นจะต้องเสียภาษี บางที่ก็อาจขอภาษีคืนได้ด้วยซ้ำไป

แล้วสรรพากรจะรู้ได้อย่างไรล่ะว่าเรามีรายได้เกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ข้างต้นหรือไม่ มาดูกันว่าสรรพกรรู้ได้อย่างไร

  1. สถาบันการเงินรายงานยอดเงินเข้าในบัญชีให้แก่สรรพากร
    โดยสรรพากรได้ออกกฎหมายให้สถาบันการเงินต่างๆ จะต้องส่งข้อมูลให้แก่สรรพากรสำหรับผู้ที่มีเงินเข้าบัญชีดังนี้
    - มีเงินเข้าเกิน 3,000 ครั้งต่อปี (นับเฉพาะขาเงินเข้า และรวมกันทุกบัญชีใน 1 ธนาคาร บัญชีร่วมก็นับรวม)
    - มีเงินเข้าเกิน 400 ครั้งต่อปีสำหรับผู้ที่มีเงินเข้าเกิน 2 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี (นับเฉพาะขาเงินเข้า และรวมกันทุกบัญชีใน 1 ธนาคาร บัญชีร่วมก็นับรวม)

  2. ได้รับข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่มีการยื่นภาษีในแต่ละเดือน
    ในแต่ละองค์กรก็จะมีการส่งข้อมูลเงินเดือนให้แก่สรรพากรอยู่แล้ว เช่น เงินเดือน ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
    โดยการยื่นรายงานเหล่านี้ จะเป็นรายได้ของบุคคลธรรมดาของเราๆ ถ้าไปรับเงินจากองค์กร หรือบริษัทมา สรรพากรก็จะรู้ได้ในทันที

  3. เงินที่รับโอนจากโครงการสนับสนุนกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ
    เช่นโครางการคนละครึ่ง เราชนะ เมื่อรัฐบาลจ่ายให้ประชาชนไปจับจ่ายใช้สอย สรรพากรก็จะรู้ว่าพ่อค้าแม่ค้าหรือองค์กรต่างๆ รับเงินไปเท่าไหร่ แล้วนำมายื่นภาษีครบหรือไม่นั่นเอง

  4. ข้อมูลที่เชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน
    เช่น กรมที่ดิน ว่ามีการซื้อขายที่ดินแล้วขายทันทีเพื่อเก็งกำไรหรือไม่ กรมศุลกากร ว่ามีการนำเข้าสินค้ามาจำนวนมาก อาจมีความน่าจะเป็นว่านำเข้ามาขาย แล้วมีการยื่นรายได้หรือไม่ เป็นต้น

  5. มีหน่วยงาน E-Commerce
    เป็นหน่วยงานที่จะคอยสอดส่องพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ทั้งหลาย และมีการล่อซื้อ และดูพฤติกรรมว่ามีการหลีกหนีภาษีหรือไม่

  6. ได้รับแจ้งเบาะแส
    โดยผู้ที่แจ้งเบาะแสก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คือคู่แข่งนั่นเอง หรือไม่ก็จะมีผู้บริโภคบางส่วนที่ไม่พอใจร้านค้าเวลาที่จะขอเอกสารการรับเงินเช่นใบกำกับภาษี หรือใบเสร็จรับเงิน แล้วร้านค้าไม่ยอมออกเอกสารให้

สุดท้ายนี้ก็หวังว่าบทความนี้จะพอคลายข้อสงสัยแก่ท่านผู้อ่านได้ว่าสรรพากร เขามีวิธีในการตรวจสอบ และรู้ได้อย่างไรว่ามีผู้หนีภาษีหนี หรือ ยื่นภาษีไม่ครบได้อย่างไร

 

บาทความโดย บริษัท กรุงเทพการบัญชี (1975) จำกัด