อย่างที่รู้กันว่าภาษีบุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90/91) ต้องนำส่งภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565 ในการยื่นเอกสารแบบยื่นมือ หรือ 8 เมษายน 2565 ในการยื่นแบบออนไลน์ ดังนั้นมาดูกันว่าใครมีหน้าที่ต้องยื่นภาษี และควรทำอย่างไรให้เสียภาษีน้อยลง
ความจริงแล้วเป็นหน้าที่ของผู้ที่มีรายได้ในไทยทุกคนไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือต่างชาติก็ตาม โดยตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากรกำหนดให้
- ผู้ที่เป็น คนโสด ที่มีเงินได้จากเงินเดือนอย่างเดียวตั้งแต่ 120,000 บาท หรือ มีรายได้ประเภทอื่นตั้งแต่ปีละ 60,000 บาทขึ้นไปมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษี
- คนที่ ไม่โสด ที่มีเงินได้จากเงินเดือนอย่างเดียวตั้งแต่ 220,000 บาท หรือ มีรายได้อื่นตั้งแต่ปีละ 120,000 บาทขึ้นไปก็มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษี เช่นกัน
คำถามต่อมาคือ "แล้วถ้าเข้าเกณฑ์แล้วไม่นำส่งภาษีล่ะ มีความผิดหรือไม่?" คำตอบก็คือ มีความผิดทางกฎหมาย โดยต้องโทษระวางค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ซึ่งในทางปฎิบัติกรมสรรพากรก็จะลดให้ เหลือเพียง 200 บาท กรณีที่ไม่มีภาษีต้องชำระ (แต่อย่าคาดหวัง แนะนำให้นำส่งภาษีจะดีกว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ เมื่อคุณละเมิดกฎหมาย) ยิ่งถ้ามีภาษีต้องชำระละก็จะมีเบี้ยปรับอีก 1.5% ต่อเดือน!!
ประเด็นวันนี้เชื่อว่าหลายคนคงหาข้อมูลมาพอสมควรแล้วเพื่อเป็นการไม่ต้องเสียเวลา จะขออนุญาตข้ามเรื่องค่าลดหย่อนต่างๆ ที่ได้กันอยู่แล้ว แต่จะขอเจาะจงไปที่ประเด็นที่เราสามารถหาค่าลดหย่อนเพิ่มได้เองเท่านั้น โดยแบ่งเป็น 7 หัวข้อ ดังนี้
- ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวที่ไม่มีรายได้จะได้ลดหย่อนดังนี้
1.1 คู่สมรสผู้ไม่มีรายได้ ลดหย่อนได้ 60,000 บาท (ได้สูงสุด 1 คน)
1.2 บิดามารดาของตน หรือของคู่สมรส คนละ 30,000 บาท (ต้องไม่มีญาติพี่น้องนำไปลดหย่อนแล้ว)
1.3 อุปการะผู้พิการหรือทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท
1.4 ค่าฝากครรภ์และทำคลอด ตามค่าใช้จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 60,000 บาท
1.5 บุตร คนแรก 30,000 บาท และตั้งแต่คนที่ 2 ที่เกิดหลัง พ.ศ.2561 เป็นต้นไป คนละ 60,000 บาท (ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขคนละ 30,000 บาท)
- การซื้อประกัน
2.1 เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป/เงินฝากแบบมีประกันชีวิต ตามที่จ่ายจริงและรวมกันไม่เกิน 100,000 บาท
2.2 เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป/เงินฝากแบบมีประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ตามที่จ่ายจริงและรวมกันไม่เกิน 10,000 บาท
2.3 เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท
2.4 เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท เมื่อรวมกับหมวดสีน้ำเงิน ไม่เกิน 100,000 บาท
2.5 เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและรวมกับหมวดสีเขียว แล้วไม่เกิน 500,000 บาท
- การซื้อกองทุน
3.1 กบข./กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินเดือน และเมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 500,000 บาท
3.2 กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและเมื่อรวมกับหมวดสีเขียว แล้วไม่เกิน 500,000 บาท
3.3 เงินประกันสังคม ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 9,000 บาท
3.4 กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามจริงแต่ไม่เกิน 13,200 บาท หมวดสีเขียวแล้วไม่เกิน 500,000 บาท
3.5 กองทุนรวมการออม (SSF) ตามจริงแต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท และรวมกับหมวดสีเขียวแล้วไม่เกิน 500,000 บาท
- ดอกเบี้ยซื้อที่อยู่อาศัย ได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท (ถ้ากู้ร่วมต้องหารเท่าจำนวนชื่อของผู้กู้ทั้งหมด เท่ากันทุกๆคนที่กู้ร่วม)
- เงินลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- เงินบริจาค
6.1 เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ ได้ 2เท่าของที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
6.2 เงินบริจาคทั่วไป ได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหัก ค่าลดหย่อน
6.3 เงินบริจาคพรรคการเมือง ตามจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท
- เครดิตภาษีเงินปันผล ตัวนี้ถ้านำมายื่นต้องยื่นเงินปันผลทุกรายการ ซึ่งบางคนอาจจะทำให้ภาษีลดลง แต่ในทางตรงข้ามอาจทำให้บางคนเสียภาษีมากขึ้น ดังนั้นต้องลองยื่นทั้งสองแบบแล้วเทียบกันดูว่ายื่นหรือไม่ยื่นดีกว่ากัน
ข้อควรระวัง!! ในหมวดสีน้ำเงินจะต้องรวมกันไม่เกิน 100,000 บาท และหมวดสีเขียวรวมกันจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ทั้งหมดนี้เป็นรายการลดหย่อนที่ทางเรารวบรวมมาให้ หวังว่าจะมีประโยชน์แก่ใครหลายๆคน อย่างไรก็ตามถ้ามีข้อผิดพลาดประการใด ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
เรียบเรียงโดย: บริษัท กรุงเทพการบัญชี (1975) จำกัด