5 อันดับ สิ่งที่อันตรายที่สุดที่ไม่ควรทำในการประหยัดภาษีบริษัท

25 Mar 2022

 

เจ้าของกิจการทุกท่านย่อมต้องการที่จะมีกำไรในกิจการให้ได้มากที่สุด ซึ่งการที่จะทำให้กำไรเยอะนั้นก็ทำได้หลายวิธีดังนี้

  • การเพิ่มรายได้ เช่น ทำยอดขายให้ได้เยอะๆ เช่น ลดราคาให้ถูกกว่าคู่แข่ง จัดโปรโมชั่น เพิ่มแรงจูงใจให้แก่พนักงานขายโดยให้ค่าคอมมิชชั่น ฯลฯ
  • ลดค่าใช้จ่าย เช่น หาซัพพลายเออร์ใหม่ๆที่ขายวัตถุดิบได้ถูกกว่าเจ้าเดิม ลดพนักงานในองค์กรบางส่วนที่ไม่จำเป็น
  • การวางแผนภาษี เช่น หาค่าลดหย่อนต่างๆ ทำงบประมาณเพื่อที่จะประมาณการรายได้และค่าใช้จ่ายให้สัมพันธ์กันเพื่อให้ได้อัตราภาษีที่ประหยัด

ซึ่งเนื้อหาในบทความนี้จะขอเน้นไปในเรื่องของการวางแผนภาษี เพราะหลายๆคนวางแผนภาษีแบบผิดๆ ที่คิดว่าทำได้ ทำถูก แต่ที่จริงแล้วเป็นอันตรายมากๆ และไม่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อโดนตรวจสอบก็จะมีโทษร้ายแรง และเป็นที่เพ่งเล็งของสรรพากร

 

5 สิ่งที่อันตรายที่สุดที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง สำหรับการประหยัดภาษี

อันดับที่ 5 สร้างรายได้ปลอม

หลายคนคง งงว่าทำไมสร้างรายได้ปลอม มันเป็นการวางแผนภาษีตรงไหน ตัวอย่างเช่น กิจการเป็นธุรกิจที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ ซึ่งเจ้าภาษีถูกหัก ณ ที่จ่ายตัวการนี้แหละที่มีอายุแค่เพียงในปีภาษีเท่านั้น จึงทำให้เจ้าของธุรกิจบางรายเกิดความเสียดายถ้าใช้ไม่หมด จึงต้องสร้างรายได้ปลอมขึ้นมาเพื่อให้บริษัทกำไรมากขึ้น และเคลียเจ้าภาษีหัก ณ ที่จ่ายตัวนี้ให้หมดไป

 

อันดับที่ 4 การจ้างคนมารับรายได้ หรือที่เรียกกันว่า "นอมินี"

จริงอยู่ว่าการที่หาคนมารับรายได้ โดยจะเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทเป็นวิธีที่ง่าย และหลายคนก็มองว่าปลอดภัยมากเพราะคิดว่าเอาญาติตัวเองมาช่วยไว้ใจได้หายห่วง แต่ก็มีหลายกรณีไปที่มีปัญหา เพราะทะเลาะกัน คนเราเวลารักกันก็คุยกันง่าย แต่ถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วอะไรก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน สิ่งที่จะตามมาคืออะไรล่ะ นอมินี นี่แหละที่วิ่งไปฟ้องสรรพากร

 

อันดับที่ 3 เอาเงินออกจากกิจการไปใช้โดยไม่จ่ายเงินปันผล

เจ้าของบริษัทมากมายที่ไม่เข้าใจว่าเงินในบริษัท ไม่ใช่ของตัวเองเพราะคิดว่าตัวเองเป็นคนก่อตั้งทุกอย่างในนั้นก็ต้องเป็นของฉันสิ ซึ่งแนวคิดนี้ผิดมั้ย มันก็อาจจะไม่ผิด แต่ว่าในทางกฎหมายนั้นผิด เพราะบริษัทเป็นนิติบุคคล ซึ่งการเป็นนิติบุคคลนั้นพูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือมันก็คือคนอีกคนนั้นแหละ กระเป๋าตังคนละใบ ต่อเนื่องจากความคิดที่ว่าเงินในบริษัทก็ของฉันนั่นแหละ ทำให้เจ้าของบริษัทหลายรายถอนเงินในบริษัทออกมาใช้ส่วนตัว โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการเลย และไม่ได้ทำบัญชีด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือ เมื่อนักบัญชีเห็นเงินถอนออกไปจากกิจการไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เอาไปหมกอยู่ในบัญชีที่ชื่อว่า "ลูกหนี้เงินกู้ยืมกรรมการ" ซึ่งบัญชีตัวนี้แหละตัวอันตรายที่สรรพากรนั้นเพ่งเล็งมาก เพราะสรรพากรมองว่า เงินตัวนี้เป็นเงินที่บริษัทให้กรรมการกู้ยืม ดังนั้นบริษัทก็ต้องคิดดอกเบี้ยกับกรรมการสิ จึงมีภาษีอีกตัวที่เกิดขึ้นชื่อว่า "ภาษีธุรกิจเฉพาะ" ซึ่งอัตราภาษีจะสูงสุดที่ร้อยละ 3 โดยคิดจากดอกเบี้ยที่คำนวณจากเงินต้นที่กรรมการยืมไปโดยใช้อัตราดอกเบี้ยตลาด ณ เวลานั้น

ดังนั้นโปรดคิดให้ดีนะจะถอนเงินสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ ซึ่งการที่จะนำเงินออกจากกิจการนั้นก็มีหลายวิธีเช่น ตั้งเงินเดือนให้ตัวเอง การจ่ายเงินปันผล ฯลฯ

 

อันดับที่ 2 เคลมภาษีซื้อต้องห้าม

จริงอยู่ว่าบริษัทที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น สามารถนำภาษีซื้อมาหักกับภาษีขายได้ แต่ว่าภาษีซื้อบางประเภทก็ไม่สามารถนำมาเคลมได้ เช่น ค่ารับรอง ค่าน้ำมันเบนซิน รถยนต์นั่ง ฯลฯ โดยที่พบกันมากจะเกิดจากความไม่รู้ของเจ้าของกิจการ ถ้าสรรพากรตรวจพบก็ต้องโดนโทษปรับกันไปตามระเบียบ โดยจะมีโทษคือ เบี้ยปรับเป็นจำนวน 1 เท่าของภาษีตามใบกำกับภาษี และเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนนับจากวันที่เคลมภาษีไปจนถึงวันที่ตรวจพบ

  

อันดับที่ 1 สร้างค่าใช้จ่ายปลอม หรือซื้อใบกำกับภาษี

วิธีนี้เป็นที่นิยมกันมาก และก็อันตรายมากที่สุดด้วยเช่นกัน ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ประกอบการที่หาต้นทุนให้กิจการไม่ได้ ทำให้มีกำไรมากก็เสียภาษีมาก ผู้ประกอบการมากมายจึงใช้การซื้อใบกำกับภาษีเอาซะเลยง่ายดี ได้ค่าใช้จ่ายมาเต็มๆลดภาษีได้แน่นอน วิธีนี้บอกเลยว่าอย่าหาทำเลยเพราะถ้าโดนจับได้ มีโทษดังนี้

  • เจ้าพนักงานมีอำนาจในการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่
  • ต้องโดนเบี้ยปรับที่สูงถึง 2 เท่าของใบกำกับภาษีที่ซื้อมา และเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจที่จะสั่งเปลี่ยนแปลง หรือลดเบี้ยปรับลง
  • ต้องโดนเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนตามระยะเวลา ยิ่งเจอช้า ยิ่งโดนหนัก (ไม่เกินมูลค่าของภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่ง)
  • กรณีนำภาษีซื้อปลอมมาใช้โดยเจตนา ต้องระวางจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี!! และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาทต่อใบกำกับภาษี 1 ใบ
  • เจ้าพนักงานมีอำนาจในการไม่ให้นำใบกำกับภาษีปลอม มาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

 

สุดท้ายนี้การวางแผนภาษีนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพียงแต่ว่าควรจะวางแผนได้อย่างถูกวิธี และรอบคอบ จะเห็นได้ว่าการวางแผนภาษีที่ผิดๆ หรือทำเสี่ยงๆ เมื่อถูกตรวจพบนั้น โทษของมันได้ไม่คุ้มเสียเอาเสียเลย จะมีตั้งแต่โทษเบา จนไปถึงโทษหนักสุดในการจำคุกเลยทีเดียว ฝากถึงผู้ประกอบการทุกท่านว่าจะประหยัดภาษี ก็ควรประหยัดพอสมควร อย่าเป็นคนที่ "เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย" บางทีการมีที่ปรึกษาที่ดีก็อาจจะเป็นทางออกที่ดีด้วยเช่นกัน

 

บทความโดย: บริษัท กรุงเทพการบัญชี (1975) จำกัด

เพิ่มเพื่อน